1.4 หน้าที่ในการประกอบธุรกิจ

    ธุรกิจทุกประเภทต่างมีหน้าที่ในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความพึงพอใจสูงสุด เกิดอรรถประโยชน์สูงสุดสามารถบำบัดความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์ ได้แก่

      1. หน้าที่ด้านการตลาด

          การบริหารการตลาดผู้ประกอบธุรกิจต้องอาศัยส่วนผสมทางการตลาด (Marketing Mix) หรือเรียกว่า 4P's เป็นเครื่องมือในการวางแผนทำให้ผู้บริโภคเกิดความพึงพอใจ ได้แก่

         1)  ผลิตภัณฑ์ (Product) คือ สิ่งที่ธุรกิจเสนอขายเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคให้พึงพอใจ ผลิตภัณฑ์อาจจะมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ได้ ผลิตภัณฑ์จึงประกอบด้วยสินค้า บริการ ความคิด สถานที่ องค์กรหรือบุคคล ซึ่งต้องมีอรรถประโยชน์ (Utility) มีมูลค่า (Value)ในสายตาของผู้บริโภคจึงจะขายได้

         2)  ราคา (Price) คือ มูลค่าผลิตภัณฑ์ในรูปตัวเงิน ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดราคาให้เหมาะสม เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค จึงจะสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้แก่ผู้บริโภคได้ ซึ่งการกำหนดราคาขึ้นอยู่กับตัวผลิตภัณฑ์ กลุ่มตลาดเป้าหมาย การแข่งขัน บทบัญญัติตามกฎหมาย เป็นต้น

        3)  การจัดจำหน่าย (Place) คือ กิจกรรมการเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์จากธุรกิจไปยังตลาด เป้าหมายผู้ประกอบธุรกิจต้องเลือกช่องทางการจัดจำหน่ายให้เหมาะสมกับประเภทของผลิตภัณฑ์ และจะต้องจัดจำหน่ายให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภค จึงจะทำให้ผลิตภัณฑ์จำหน่ายได้

       4)  การส่งเสริมการตลาด (Promotion) คือ การติดต่อสื่อสารเกี่ยวกับข้อมูลระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ เพื่อสร้างทัศนคติและพฤติกรรมการซื้อ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจให้เกิดการซื้อ เช่น การโฆษณา การให้ส่วนลด การให้ของแถม เป็นต้น

         2. หน้าที่ด้านการผลิต  (Production) เป็นกิจกรรมแปรรูปวัตถุดิบให้เป็นสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องพิจารณา ได้แก่

 

        1)  การเลือกทำเลที่ตั้ง

        2)  การวางผังโรงงาน

        3)  การออกแบบสินค้า

        4)  การกำหนดตารางเวลาการผลิต

       5)  การตรวจสอบสินค้า

          3.หน้าที่การจัดหาเงินทุน (Capital) เงินทุนถือว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจจึงต้องมีการบริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการจัดสรรเงินทุน   ในการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการจัดหาเงินทุนมาใช้ในการประกอบธุรกิจ แหล่งเงินทุนสำหรับจัดหามาเพื่อประกอบธุรกิจมี 2 แหล่ง ดังนี้

             1) การจัดหาแหล่งเงินทุนภายใน เป็นเงินทุนที่ได้จากเจ้าของกิจการ ได้แก่ เงินที่นำมาลงทุน และจากกำไรสะสม

             2)  การจัดหาแหล่งเงินทุนภายนอก เป็นเงินทุนที่ได้จากการกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายนอกกิจการ เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ธุรกิจขนาดย่อย (บอย.)  บริษัทประกันภัย เป็นต้น

 

 4 )หน้าที่ด้านการจัดหาทรัพยากรด้านกำลังคน คนถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญมากที่สุดในการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจัดหาบุคคลที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับตำแหน่งงาน โดยใช้หลักการ "จัดคนให้เหมาะกับงาน" (Put the right man on the right job) รวมทั้งเมื่อได้บุคลากรที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับงานแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจยังต้องรักษาบุคลากรดังกล่าว ให้ปฏิบัติงานอยู่กับองค์กรตลอดไปอย่างมีความสุข การจัดหาทรัพยากรด้านกำลังคน ผู้ประกอบธุรกิจควรพิจารณา ดังนี้

      1)  การวางแผนกำลังคนด้านจำนวน คุณภาพ และหน้าที่ความรับผิดชอบ

      2)  การสรรหากำลังคน

     3)  การคัดเลือกและการบรรจุ

     4)  การฝึกอบรม

     5)  การประเมินผลการปฏิบัติงาน

5) การบริการข้อมูลข่าวสารเนื่องจากปัจจุบันการดำเนินธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้น ย่อมอาศัยข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจเป็นหลักโดยมุ่งสื่อสารอย่างรวดเร็วและแม่นยำในยุคโลกาภิวัตน์ ข่าวสารทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการจะต้องศึกษาค้นคว้าผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ทางธุรกิจ วารสารอุตสาหกรรม โทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต เป็นต้น