ชื่อวงศ์
 : EUPHORBIACEAE       ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phyllanthus acidus (L.) Skeels
ชื่อสามัญ : Star gooseberry
ชื่อพื้นเมืองอื่น : มะยม (ทั่วไป) ; หมักยม, หมากยม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-อุดรธานี) ; ยม (ภาคใต้)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
วันนี้ขอแนะนำเมนู ตำมะยม
   
 ตำมะยมเป็นเมนูตำอย่างหนึ่งรสชาด เปรี้ยวหวานนำ เผ็ดตาม เค็มตาม นัวแซ่บไม่เหมือนใคร
วิธีการทำก็ไม่ยาก เก็บมะยมมา ล้างน้ำให้สะอาด ตำพริกพอประมาณ กระเทียม ใส่มะยมค่อย ๆ ตำ เพราะมะยมน้ำเยอะอาจกระเด็นเข้าตาได้ เสริมด้วย น้ำปลาร้าต้มสุก ผงปรุงรส น้ำตาลทรายแดง น้ำปลา ชิมรส แค่นี้ก็ตักใส่จานเสริฟ พอแก้ง่วงได้ ผลไม้ตามฤดูกาล ต้องลองกันนะคะ ไปดูความรู้เกี่ยวกับมะยมต่อกันเลย


       ไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-10 เมตร ลำต้นตั้งตรงเปลือกต้นเป็นปุ่มปม ขรุขระ สีเทาปนน้ำตาล แตกกิ่งก้านแผ่กระจาย กิ่งก้านเปราะและแตกง่าย
       ใบ เป็นใบรวม มีใบย่อยออกเรียงสลับกันเป็น 2 แถวบนกิ่งที่เรียงอยู่รอบ ๆ ใกล้ปลายกิ่ง ลักษณะใบรูปขอบขนานกลมหรือรูปค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน โคนใบมน ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม แผ่นใบบาง สีเขียวอ่อน หรือเขียวอมเหลือง ท้องใบหรือด้านล่างสีนวล ก้านใบสั้น
       ดอก ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ แบบช่อแยกแขนง ออกช่อดอกตามลำต้น หรือกิ่งที่ไร้ใบ ช่อดอกสีชมพู ส่วนดอกมีขนาดเล็ก กลม กลีบดอกรูปทรงกลม หรือรูปทรงกลมแกมรูปไข่สีเขียวอ่อน หรือดอกแดงเรื่อๆ เป็นดอกแบบสมมาตรตามรัศมี
       ผล ลักษณะผลกลมแป้นห้อยเป็นพวงระย้า ตามกิ่งและลำต้น มีขนาดเล็ก ด้านบนบุ๋ม ด้านล่างแบน ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน และจะออกสีเหลืองอมขาวเมื่อแก่
       เมล็ด กลมแข็งและเป็นเหลี่ยม มีหนึ่งเมล็ด
       นิเวศวิทยา
             เป็นไม้ในเมืองไทย ชอบกลางแจ้ง ปลูกได้ทั่วไปในเขตร้อน นิยมปลูกไว้ตามบ้านเรือน เพื่อความเป็นสิริมงคล และประโยชน์ใช้สอย
       การปลูกและขยายพันธุ์
เจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิดทั้งที่แดดจัดหรือรำไร แต่จะชอบดินร่วนซุยที่น้ำไม่ขัง มีความชื้นพอเหมาะ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
       ประโยชน์ทางยา
       รสและสรรพคุณในตำรายา
              ราก รสจืด เป็นยาแก้โรคผิวหนัง เม็ดผดผื่นคัน ช่วยขับน้ำเหลือง ดับพิษเสมหะโลหิต ประดง ทาแก้คัน สูดไอร้อนแก้ไอ แก้หืดหอบ แก้ปวดศีรษะ น้ำยางเปลือกรากมีพิษเล็กน้อย ถ้ากินเข้าไปจะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ปวดศีรษะและง่วงซึม
              เปลือกต้น รสจืด แก้ไข้ทับระดู หรือแก้ไข้เพื่อโลหิต แก้ผดผื่นคัน
              ใบ รสจืดมัน เป็นยาแก้ไอ บำรุงประสาท ขับเสมหะ แก้พิษไข้อีสุกอีใส ปรุงเป็นส่วนประกอบของยาเขียวรับประทานดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้ตัวร้อน ไข้หัวต่างๆ แก้โรคหัดเหือด ต้มรวมกับใบหมากผู้หมากเมีย ใบมะเฟือง อาบแก้ผื่นคัน พิษไข้หัว เหือด หัด สุกใส ดำแดง และฝีดาษ น้ำต้มใบดื่มพร้อมผลเป็นยาขับเหงื่อ
              ดอก รสเปรี้ยวฝาด ใช้ล้างและชำระฝ้านัยน์ตา แก้โรคในตาได้ดี
              ผล รสเปรี้ยวสุขุม กัดเสมหะ แก้ไอ บำรุงโลหิต และระบายท้อง โขลกรวมกับพริกไทยเป็นยาพอกแก้ปวดกล้ามเนื้อ และปวดหลัง น้ำต้มใบดื่มพร้อมกับผล เป็นยาขับเหงื่อ ผลรับประทานได้ทั้งดิบและสุก มีรสเปรี้ยว มีฤทธิ์เป็นกรด ใช้ทำแยมหรือเชื่อมก็ได้ เป็นยาฝาดสมาน แก้หลอดลมอักเสบ และขับปัสสาวะ